Intellectual Property

สิทธิบัตร “กรรมวิธีการเสริมแรงผลิตภัณฑ์จากวัสดุผสมพีวีซี และขี้เลื่อยไม้โดยเส้นใยแก้วสังเคราะห์ และสารเพิ่มเสถียรภาพทางความร้อนและแสงยูวี (Reinforcing and stabilizing Methods for Wood/PVC Composite Products by Synthetic Glass Fiber and Thermal-UV Stabilizers)” เลขที่คำขอ 0801004853 (22 กันยายน 2551) ผลงานวิจัยนี้อยู่ในระหว่างขอรับสิทธิบัตรร่วมกันระหว่าง มจธ. สกว. และบริษัท วี.พี. วู๊ด จำกัด โดยสูตรและกรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์วัสดุผสมดังกล่าวนี้ มีการเติมเส้นใยแก้ว และสารเติมแต่งชนิดพิเศษ เพื่อปรับปรุงสมบัติของผลิตภัณฑ์วัสดุผสมพีวีซี และขี้เลื่อยไม้ในด้านของสมบัติทางกลเชิงโครงสร้าง และความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมกลางแจ้ง ทั้งจากความร้อนและแสงยูวีผลิตภัณฑ์วัสดุผสมที่ได้มีลักษณะภายนอกทั้งสีและผิวที่คล้ายคลึงกับวัสดุไม้ เหมาะที่จะนำมาใช้งานเป็นวัสดุก่อสร้างทดแทนการใช้ไม้ ทั้งการใช้งานภายในและภายนอกอาคาร อาทิเช่น คาน พื้น ราวสะพาน กรอบประตู และหน้าต่าง เป็นต้น  นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์วัสดุผสมที่ได้ยังมีลักษณะพิเศษ คือ สามารถประกอบ และติดตั้งด้วยวิธีการที่คล้ายคลึงกับกรณีของไม้ และมีสมบัติความต้านทานการลามไฟได้ดี ปัจจุบันบริษัท ได้มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Cabonyx” และยังคงดำเนินการวิจัยและพัฒนาวัสดุผสมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง


สิทธิบัตร “สูตรส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์จากวัสดุผสมพีวีซีกับขี้เลื่อยไม้ (Materials Formulation for PVC/Sawdust Products)” เลขที่สิทธิบัตร 22706 (คุ้มครองตั้งแต่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ถึง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2565)   ผลงานวิจัยนี้ เป็นผลงานที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตร คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยผู้ประดิษฐ์ประกอบด้วย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มจธ. ดร.ศิรินทร ทองแสง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. และ นายวิชัย โรซาพิทักษ์ บริษัท วี. พี. พลาสติก โปรดักส์ (1993)


สิทธิบัตร “เครื่องมือวัดความดันไลท์ดีเพนเดนดีเทคเตอร์ (Light Dependent Detector Pressure Sensor)” เลขที่สิทธิบัตร 19187 (คุ้มครองตั้งแต่ ธันวาคม พ.ศ. 2544 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2564)   และผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ ศ.ดร. ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ (หัวหน้ากลุ่มวิจัย P-PROF) ได้รับ รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ปี พ.ศ. 2545 จากมูลนิธิ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์


สิทธิบัตร “สูตรวัสดุผสมและกรรมวิธีการผลิต ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติผสมขี้เลื่อยไม้ (Material Formalation and Processing for Natural Rubber/Wood Sawdust)” เลขที่คำขอ 0701000589 (9 กุมภาพันธ์ 2550)  ผลงานวิจัยอยู่ระหว่างขอรับสิทธิบัตรร่วมกันระหว่าง มจธ. สกว. และ บริษัท สยามยูไนเต็ดรับเบอร์ จำกัด โดยสูตรและกรรมวิธีการผลิตจากวิจัยนี้ ได้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นหลังคา ซึ่งมีความแข็งแกร่ง ความแข็งแรง และความคงทนสภาวะการนำไปใช้งานกลางแจ้ง นอกจากนี้ หลังคายางจากงานวิจัยนี้ยังมีลักษณะพิเศษอีก คือ สามารถลดความร้อนภายในอาคารเนื่องจากวัสดุมีสมบัติเป็นฉนวนความร้อน และสามารถต้านทานการลามไฟได้ ปัจจุบัน บริษัท สยามยูไนเต็ดรับเบอร์ จำกัด ได้มีแผนการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยยังคงดำเนินการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่ผลิตจากยางอย่างต่อเนื่อง


สิทธิบัตร “สูตรผลิตภัณฑ์ยางทนน้ำมันและกรรมวิธีการผลิต (Formulation of Oil Resistant Rubber Product and Manufacturing)” เลขที่คำขอ 0701004056 (4 สิงหาคม 2550)  ผลงานวิจัยอยู่ระหว่างขอรับสิทธิบัตรร่วมกันระหว่าง มจธ. สกว. และ คอมพาวด์โปรเฟสชันแนล จำกัด โดยสูตรผลิตภัณฑ์ยางและกรรมวิธีการผลิตจากงานวิจัยนี้ มีการเติมสารเติมแต่งชนิดพิเศษให้มีสมบัติความทนต่อสภาวะการใช้งาน และมีสมบัติเด่นด้านความแข็งแรง การต้านต่อน้ำมันได้สูงขึ้น และเพิ่มสมบัติเด่นทางด้านการคืนตัวของผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้สามารถผลิตในรูปแบบยางทนน้ำมันได้หลากหลาย เช่น โอริง ปะเก็น ยางกันรั่วที่ใช้ในเครื่องจักรกล นอกจากนี้ การประดิษฐ์นี้สามารถใช้เทคนิคกรรมวิธีการผลิตที่มีอยู่โดยทั่วไปได้ ปัจจุบัน บริษัท คอมพาวด์โปรเฟสชันแนล จำกัด ได้มีแผนการนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการดำเนินการวิจัยและพัฒนาวัสดุดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง


อนุสิทธิบัตร “กรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์จาก วัสดุผสม ระหว่างพอลิเอทธิลีนและเถ้าลอย ที่ขึ้นรูปจากกระบวนการแม่พิมพ์หมุนเหวี่ยง (Rotational Molded Articles from PE/Fly Ash Composites)” เลขที่อนุสิทธิบัตร 6389 ออกให้ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 หมดอายุวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555 (ตามเลขที่คำขอ 0603000361, วันขอรับอนุสิทธิบัตร 21 มีนาคม 2549)   ผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้เป็นผลงานวิจัยที่ดำเนินร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หจก. เจริญมิตร และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งผลิตภัณฑ์ถังบำบัดน้ำทิ้งที่ได้จากงานวิจัยนี้ ได้ทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถังเก็บน้ำพลาสติก มอก. แล้ว และขณะนี้ทาง หจก. เจริญมิตร (ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ) อยู่ในระหว่างดำเนินการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์


อนุสิทธิบัตร “กรรมวิธีการผลิตถังเก็บน้ำร้อนจากวัสดุพอลิเมอร์ด้วยกระบวนการขึ้นรูปแบบแม่พิมพ์หมุนเหวี่ยง” เลขที่คำขอ 1203000495 วันที่ยื่นคำขอ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 (คุ้มครองตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2561)   ผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้เป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาและผลิตถังพลาสติกทนความร้อนสำหรับเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์” (ระยะเวลาโครงการ 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552) โดยได้รับทุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำหรับความมุ่งหมายของการผลิตคือ การพัฒนาถังเก็บน้ำร้อนต้นแบบจากวัสดุพอลิเมอร์ให้สามารถใช้งานได้ที่อุณหภูมิและแรงดันสูง เพื่อทดแทนถังบรรจุน้ำร้อนจากวัสดุสเตนเลส (Stainless materials) ซึ่งมีข้อเสียในด้านการผุกร่อนจากการกักเก็บน้ำจากบาดาล และมีน้ำหนักถังที่มาก