เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 ศ.ดร. ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพและทีมวิจัย จากคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับเชิญจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้เข้าร่วมแสดงผลงานวิจัย ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงาน “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 สิงหาคม 2560 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ 2 สยามพารากอน กรุงเทพมหานคร
ผลงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สมบัติทางความร้อน สมบัติทางเสียง กำลังอัด การต้านทานเชื้อจุลินทรีย์ และความทนทานต่อการใช้งานในสภาวะริมทะเลของบ้านพักอาศัยที่ทำจากวัสดุผสมระหว่างพีวีซีและผงขี้เลื่อยไม้” โดยมี ศ.ดร. ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ และนายศิริชัย ก้านกิ่ง คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้มีการออกแบบเพื่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียว ซึ่งมีการประกอบกันของผนังทั้งในแนวตั้งและแนวนอนโดยปราศจากการยึดด้วยโลหะ
ทั้งนี้ การก่อสร้างบ้านพักอาศัยในปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากผนังคอนกรีตที่มีการก่ออิฐฉาบปูน ซึ่งเป็นระบบก่อสร้างแบบดั้งเดิมที่ใช้วัสดุ แรงงาน และเวลาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการเข้าถึงเพื่อทำการติดตั้ง ดังนั้นการสร้างบ้านพักอาศัยแบบถอดประกอบได้ หรือน็อคดาวน์ โครงร่างบ้านพักอาศัยในงานวิจัยนี้สร้างขึ้นจากวัสดุผสมระหว่างพอลิไวนิลคลอไรด์กับผงขี้เลื่อยไม้ยางพารา เพื่อให้มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ใช้แรงงาน เวลา และพื้นที่สำหรับการเข้าไปติดตั้งน้อย โดยปกติวัสดุผสมดังกล่าวได้ถูกคิดค้นขึ้นและมีการใช้มาสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว ไม้ที่ใช้จัดอยู่ในกลุ่มของไม้เนื้อแข็ง แต่ความต้องการใช้งานมีมากขึ้น ส่งผลให้ไม้เนื้อแข็งเริ่มมีปริมาณลดน้อยลง การใช้ไม้เนื้ออ่อนเป็นส่วนผสมของการสร้างชิ้นส่วนบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
นักวิจัยเลือกใช้ไม้ยางพาราซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีจุดเด่นในด้านปริมาณพื้นที่ผิวจำเพาะและขนาดของรูพรุนที่สูง มีอัตราส่วนของความยาวต่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ต่ำ และเมื่อผสมลงในพอลิไวนิลคลอไรด์แล้วจะทำให้วัสดุผสมที่ได้มีความไม่ชอบน้ำสูง โดยนักวิจัยได้ออกแบบและจัดสร้างเป็นบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียว และศึกษาอิทธิพลของสภาพแวดล้อมริมทะเลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติต่าง ๆ เช่น สมบัติทางความร้อน สมบัติทางเสียง กำลังอัดและความแข็งแรงของรอยต่อและจุดต่อ การต้านทานเชื้อราและสาหร่าย สมบัติทางแสง และความทนทานต่อไอทะเล สำหรับประยุกต์ใช้เป็นอาคารชั้นเดียวที่ติดตั้งริมชายฝั่งทะเล ที่ต้องการความเป็นธรรมชาติ ช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บ้านพักอาศัยประเภทรีสอร์ท เป็นต้น
ผลงานวิจัยนี้เป็น 1 ใน 3 ผลงานวิจัย ที่ได้รับคัดเลือกจาก สกว. ซึ่งประกอบด้วย 1) ผนังคอนกรีตกันกระสุนแบบหลายชั้นจากเส้นใยเหล็กและแผ่นยางพารา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โมเดลต้นแบบบ้านปลอดยุง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และไม้สำเร็จรูปประหยัดพลังงาน-ทนน้ำทะเล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะว่า ผลงานเหล่านี้จะต้องขายได้จริง ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานตามที่กำหนด และราคาต้องเข้าถึงชาวบ้านทั่วไปไม่เฉพาะแต่ผู้มีฐานะดีเท่านั้น
เนื้อหาข่าว : https://www.komchadluek.net/news/regional/291992
รายงานข่าวโดย : ศิริชัย ก้านกิ่ง
ภาพกิจกรรม





